Saturday 15 August 2015

ผศ.ประชิด ทิณบุตร และคณะผู้วิจัยลงพื้นที่วิจัย วิจัยวิทยาแบบให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม (Community Based participatory Research : CBPR)

ผศ.ประชิด ทิณบุตร และคณะผู้วิจัยลงพื้นที่วิจัยที่ชัยนาท วิจัยวิทยาแบบให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม (Community Based participatory Research : CBPR) โดยให้ผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมให้ข้อมูล และร่วมตัดสินใจคัดเลือกผลงานโดยวิธีการประชุมสนทนากลุ่ม(Focus Groups) ในการตัดสินใจในผลงานการออกแบบพัฒนา ผลงานออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ใหม่ ของวิสาหกิจชุมชนกองทุนเพื่อการเกษตรชุมชนบ้านแหลมทอง ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท สร้างแบรนด์ใหม่ชื่อเอาถ่าน owtarn‬ ณ  ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจ่าสมบัติ โดยการบรรยาย นำเสนอแนะแนวทางการพัฒนาต่อยอดการสร้างสรรค์คุณภาพผลิตภัณฑ์ จากถ่านอัดแท่ง การร่วมวิพากษ์ การสาธิตและร่วมผลิตก้อนถ่านอัดมือ การร่วมแสดงความคิดเห็นแบบสนทนากลุ่มย่อย และส่งมอบชุดทดลองตลาดให้ไปดำเนินการต่อยอดทางธุรกิจที่เข้มแข็งและพึงพาตนเองได้ต่อไป 6-8-2558


ตำบลหนองแซง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งมีพื้นที่แบ่งออกเป็น 20 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ประกอบอาชีพเกษตรกรรมถึงร้อยละ 80 และวิถีการทำการเกษตรกรรมของประชาชนในแต่ละปี เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อการเกษตรคิดเป็นมูลค่าร่วม 30 ล้านบาท และจากการที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จึงทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมลงเป็นอย่าง จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาร่วมกันของคนในชุมชนในการลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรลง และต่อมาจึงเป็นจุดกำเนิดของ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ชุมชน/ เทศบาล/ หน่วยงานราชการ/ ภาคเอกชน โดยได้มีการบูรณาการความร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน โดยจุดก่อเกิดเริ่มจากโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท “เศรษฐกิจพอเพียง”

Sunday 2 August 2015

คุณสมบัติของถ่าน

          เมื่อกล่าวถึง “ถ่าน” หลายคนคงจะนึกถึงชิ้นไม้ดำๆที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้มอาหารในครัวเรือนเท่านั่น แต่จริงแล้วถ่านมีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถดูดซับกลิ่นเหม็นอับไม่พึงประสงค์ต่างๆได้ซึ่งจะเห็นจากการนำถ่านมาไว้ในตู้เย็น ทำให้ตู้เย็นไม่มีกลิ่นเหม็นคาว ใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้า และตู้โชว์ เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็นอับผลผลิตถ่านไม้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่หลายท่านเข้าใจกันเพียงแต่นำไปใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือนเท่านั้น ในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตถ่านไม้อย่างล้ำหน้าจะสามารถผลิตถ่านขาวหรือ White Charcoal เพื่อใช้ถ่านขาวในเชิงเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ เช่น ใช้ถ่านขาวใส่ลงในกาต้มน้ำร้อนเพื่อทำน้ำแร่ เพราะถ่านชนิดนี้จะละลายแร่ธาตุต่าง ๆ ออกมาเพิ่มคุณภาพและรสชาติของน้ำร้อน ใช้ชงกาแฟหรือจะใช้ผสมเหล้าวิสกี้ก็จะได้รสชาติที่นุ่มละมุน นี่เป็นตัวอย่างการใช้ถ่านแบบพิเศษในต่างประเทศ ในบ้านเรา ผลผลิตถ่านส่วนใหญ่จะเป็นถ่านดำทีผลิตภายใต้อุณหภูมิต่ำซึ่งไม่เหมาะจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ปิ้ง – ย่างอาหาร แต่ถ่านดำได้เปรียบกว่าถ่านบริสุทธิ์ตรงที่ผลิตได้จำนวนมากกว่า ซึ่งเหมาะแก่การนำไปใช้ทำเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่ไม่เป็นการประกอบอาหารโดยตรง เช่น ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหินชนิดต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีค่ามลพิษที่สูงมาก แต่อย่างไรก็ดี ถ่านดำที่ผลิตด้วยอุณหภูมิสูงที่เราเรียกว่าถ่านบริสุทธิ์นั้น หากมีปริมาณผลผลิตที่มากพอและคงที่ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายทั้งในครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรมได้ สิ่งที่ทำให้ถ่านมีความสามารถในการดูดซับกลิ่นได้
      โดยเฉพาะ ถ่านไม้ไผ่(bamboo charcoal) เนื่องจากโครงสร้างของถ่านไม้ไผ่มีลักษณะเป็นรูพรุนเล็กๆมากมาย โดยกลิ่นเหม็นอับต่างๆจะเเพร่เข้ารูพรูน หากถ่านมีรูพรุนมากๆก็จะทำให้ดูดซับกลิ่นได้มากตามไปด้วย
      ถ่านไม้ไผ่ (Bamboo Charcoal) ภาษาญี่ปุ่นเรียก ทาเคะสึมิ (takezumi) หรือ คิคุตัน (tikutan)ทำมาจากไม้ไผ่ ( Bamboo ) เป็นถ่านที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยอุณหภูมิภายในเตามากกว่า 1,000 ºC มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมมากมาย
ถ่านไม้ไผ่ ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยอุณหภูมิภายในเตามากกว่า 1,000 ºC แตกต่างไปจากถ่านทั่วไป หรือแม้แต่ถ่านขาว ( White Charcoal ) หรือบินโจตัน ( Binchotan ) ที่มีผลิตกันมากในประเทศญี่ปุ่นและจีน ปัจจุบันประเทศจีนปิดป่าจึงไม่มีการผลิตถ่านทั้งสองชนิดนี้แล้ว
ถ่านไม้ไผ่ ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยอุณหภูมิภายในเตามากกว่า 1,000 ºC มีลักษณะพิเศษ ดังนี้ :-
• มีรูพรุนมากกว่า หากนำมาแผ่กระจายออกเป็นพื้นที่จะได้พื้นที่มากถึง 300 ถึง 700 ตร.ม / กรัม ( ถ่านไม้ทั่วไป จะได้พื้นที่ประมาณ 50 ตร.ม / กรัม )
• มีค่าความด้านทานไฟฟ้า ( Resistance ) ต่ำ ( ไม่เกิน 100 โอห์ม )
• มีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย
จีน และ ญี่ปุ่น ได้ทำการวิจัยถ่านไม้ไผ่ ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยอุณหภูมิภายในเตามากกว่า 1,000 ºC พบว่ามีคุณสมบัติพิเศษ สามารถให้กำเนิดและปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray )
จากคุณสมบัติดังกล่าว ถ่านไม้ไผ่ จึงถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในหลากหลายรูปแบบ เป็นที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่นและมีราคาแพง เช่น :-
1. ใช้เป็นวัสดุตบแต่งบ้านเรือน ( Decorate ) ช่วยฟอกอากาศ ดูดกลิ่น ( Deodorizing ) ความชิ้น ( Moisture ) ปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray ) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
1.1 ต้องใช้ถ่านไม้ไผ่ในปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่
2. ทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองลดการเน่าเสียของน้ำ ช่วยบำบัดน้ำเสีย เพิ่มแร่ธาตุ แคลเซี่ยม โพตัสเซี่ยม แมกเนเซี่ยม ฯลฯ
2.1 ต้องใช้ถ่านไม้ไผ่ในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาตรน้ำ
3. แช่ในถังน้ำดื่ม ช่วยดูดซับคลอรีน และสิ่งที่มีพิษ เพิ่มแร่ธาตุ แคลเซี่ยม โพตัสเซี่ยม แมกเนเซี่ยม ฯลฯ และปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray ) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
3.1 ทำความสะอาดถ่านไม้ไผ่ด้วยแปรงหรือฟองน้ำ ห้ามใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจานเด็ดขาด
3.2 ต้มถ่านไม้ไผ่ที่ล้างสะอาดแล้วด้วยน้ำเดือดประมาก 10 นาที
3.3 นำออกมาวางไว้ปล่อยให้แห้ง ไม่ควรนำออกตากแดด
3.4 ใช้ถ่านไม้ไผ่ 100 กรัม ( 1 ชิ้น ) ต่อน้ำ 1 ลิตรแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2 ~ 3 ชั่วโมง น้ำจะมีคุณสมบัติเหมือนน้ำแรธรรมชาติหรือดีกว่า
3.5 หลังจากใช้ถ่านไม้ไผ่ในน้ำดื่มครบ 1 อาทิตย์ ควรนำออกมาต้มด้วยน้ำเดือด และสามารถใช้ได้ 1 เดือนต่อถ่านไม้ไผ่ 100 กรัม
4. ใส่หม้อหุงข้าวขณะที่หุงข้าว ช่วยดูดซับคลอรีน กลิ่นเหม็นอับของข้าวสารเก่า และสิ่งที่มีพิษ เพิ่มแร่ธาตุ แคลเซี่ยม โพตัสเซี่ยม แมกเนเซี่ยม ฯลฯ และปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว (Far infrared ray ) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ เพิ่มรสและความนุ่มให้ข้าวสุก
4.1 ทำความสะอาดถ่านไม้ไผ่ด้วยแปรงหรือฟองน้ำ ห้ามใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจานเด็ดขาด
4.2 ต้มถ่านไม้ไผ่ที่ล้างสะอาดแล้วด้วยน้ำเดือดประมาก 10 นาที
4.3 นำออกมาวางไว้ปล่อยให้แห้ง ไม่ควรนำออกตากแดด
4.4 ใช้ถ่านไม้ไผ่ 300 กรัม ( 3 ชิ้น ) ต่อข้าว 1 หม้อ
4.5 ใช้ได้ 10 ~ 15 ครั้ง
5. ใส่ในอ้างอาบน้ำ ช่วยดูดซับคลอรีน และสิ่งที่มีพิษ เพิ่มแร่ธาตุ และปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray ) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ชำระล้างผิวหนัง กระตุ้นการการไหลวนของเลือด ช่วยให้ร่างกายสดชื่น
5.1 บรรจุถ่านไม้ไผ่ 300 กรัม ในถุงตาข่าย
5.2 แช่ถุงถ่านลงในอ่างอาบน้ำ
5.3 เพิ่มอุณหภูมิของน้ำให้อุ่น
5.4 เอาถุงถ่านออกจากอ่างเมื่ออาบน้ำเสร็จ
5.6 ถ่านไม้ไผ่ 1 ถุงใช้ได้ 2 เดือน
6. ใส่ไว้ในที่นอน ไต้เตียง ในห้องนอน ช่วยฟอกอากาศ ดูดกลิ่น ความชิ้น ปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray ) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ กระตุ้นการการไหลวนของเลือด จิตใจสงบเย็นในขณะพักผ่อนและช่วยให้นอนหลับได้ดี ร่างกายสดชื่น
6.1 ห้องขนาด 3.2 ม. x 3.2 ม. ต้องใช้ถ่านไม้ไผ่ 3 กก./ห้อง
7. ดูดซับและหักเหคลื่นไฟฟ้า ( Adsorption of Electromagnetic Wave ) ช่วยดูดซับและหักเหคลื่นไฟฟ้าที่แผ่กระจายออกมาจาก ทีวี คอมพิวเตอร์ จอมอนิเตอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดใช้งานอยู่ภายในบ้านและสถานที่ทำงาน ดูดซับลดการแผ่กระจายของคลื่นไฟฟ้าจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ
8. ฟอกและปรับอากาศ ใต้เตียงนอน และใต้อาคารบ้านเรือน ช่วยดูดซับความชิ้นในฤดูที่มีความชื้นสูง และคลายความชิ้นในฤดูที่มีความแห้งแล้ง
9. ใช้ผสมอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มแร่ธาตุ ดูดซับสารพิษ กำจัดแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์
10. ใช้ผสมดินเพื่อการเพาะปลูก ช่วยปรับสภาพของดิน เพิ่มแร่ธาตุที่พืชต้องการ

11. ใส่ในตู้เย็น ช่วยกูดกลิ่น และปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray ) ช่วยให้ผักสดเก็บไว้ได้นานวันขึ้น ถ่านไม้ไม้จะดูดซับก๊าชที่ผักและผลไม้คายออกมาซึ่งมีผลให้ผักและผลไม้เน่าเสีย
12. ใส่ในถังข้าวสาร ช่วยกูดกลิ่น ความชื้น และปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray ) ป้องกันมอด และแมลงต่าง ๆ
13. ใสไว้ในแจกันหรือกระถางดอกไม้ ทำให้เกิดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจนและแร่ธาตุ แคลเซี่ยม โพตัสเซี่ยม แมกเนเซี่ยม ฯลฯ ให้กับน้ำในแจกันหรือกระถางดอกไม้
14. ใส่ในตู้กระจกหรืออ่างเลี้ยงปลา ช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เพิ่มแร่ธาตุ แคลเซี่ยม โพตัสเซี่ยม แมกเนเซี่ยม ฯลฯ ทำให้น้ำใสสะอาด ช่วยเร่งการตกตะกอนของฝุ่นละอองในน้ำ
15. ทำห้องบำบัดสุขภาพ ช่วยฟอกอากาศภายในห้อง ดูดกลิ่น ( Deodorizing) ความชิ้น (Moisture) ปลดปล่อยประจุลบ ( Negative Ions ) และ อินฟาเรดยาว ( Far infrared ray ) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
นอกจากนั้นยังใช้ถ่านไม้ไผ่เป็นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้อีกมากมายหลายชนิด เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ถ่านเม็ดดูดสารพิษ ฯลฯ

ถ่านนี้ดีอย่างไร ทำไมถึงต้องเอาถ่าน

 ถ่านไม้ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นเป็นคาร์บอน (Carbon) ชนิดหนึ่งครับ คาร์บอนเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่มีอยู่ทั่วไปบนโลก ร่างกายของคนสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่างๆล้วนแต่ประกอบไปด้วยคาร์บอนทั้งนั้น ถ่านเป็นธาตุประเภทอโลหะ คือไม่ใช่โลหะ มีคุณสมบัติพิเศษมากมายชนิดที่หาธาตุอื่นใดมาเทียบได้ยาก มีทั้งชนิดที่สีดำสนิทและใสกิ๊งไม่มีสี มีทั้งที่เนื้อเปื่อยยุ่ยไปจนถึงแข็งแกร่งที่สุด

        คำว่า carbon ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากภาษาละตินคำว่า carbo ซึ่งแปลว่า ถ่านหิน กับถ่านไม้ ใน     ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า charbon แปลว่าถ่านไม้
มนุษย์เรารู้จักคาร์บอนมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ คาดกันว่าคนยุคแรกๆรู้จักถ่านจากกิ่งไม้ใบไม้ที่ถูกเผาจนเป็นถ่านก้อนดำๆนั่นเอง แต่ก็ยังไม่รู้จักการจะนำสิ่งที่เห็นนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากนัก นอกจากนำมาใช้เขียนภาพบนผนังถ้ำเมื่อประมาณสัก 30,000 ปีมาแล้ว จนกระทั่งชาวโรมันค้นพบวิธีการทำถ่านไม้และนำถ่านที่ได้นั้นมาเป็นเชื้อเพลิงอีกต่อ
        ในราวหนึ่งพันหนึ่งร้อยปีก่อนคริสตกาลซึ่งยุคนั้นมนุษย์รู้จักการนำธาตุเหล็กมาใช้แล้ว ช่างเหล็กพบว่าถ้านำชิ้นงานที่ตีขึ้นรูปแล้วเข้าไปเผาใหม่พร้อมกับผงถ่าน ถ่านบางส่วนจะเข้าไปผสมกับเนื้อเหล็ก ทำให้ได้เหล็กที่แข็งขึ้นกว่าเดิม และจะแข็งยิ่งขึ้นหากนำเหล็กนั้นแช่ในน้ำเพื่อให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว นั่นคือการค้นพบเหล็กกล้าที่เป็นผลมาจากคาร์บอนนั่นเอง
        และอีกประมาณห้าร้อยปีหลังจากนั้น ชาวจีนมีการพัฒนาเตาเผาเหล็กที่สามารถให้ความร้อนสูงจนเหล็กเกิดการหลอมละลายได้ คนจีนเอาถ่านเข้าไปผสมกับเหล็กที่หลอมละลายนั้น แล้วเทน้ำเหล็กดังกล่าวลงในแม่พิมพ์ เมื่อเย็นลงก็ได้เหล็กที่แข็งมากและมีรูปร่างต่างๆตามต้องการ เหล็กชนิดนี้ก็คือเหล็กหล่อ หรือ Cast Iron นั่นเอง


   
        นอกจากการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าชนิดต่างๆแล้ว คาร์บอนยังมีความสำคัญในอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมากมาย ด้วยความพิเศษหาใดเหมือนของมันเอง คาร์บอนแม้จะไม่ใช่โลหะ แต่แกรไฟต์ซึ่งเป็นคาร์บอนชนิดหนึ่งกลับมีคุณสมบัติเป็นตัวนำทั้งกระแสไฟฟ้าและความร้อนได้อย่างดี มันจึงถูกนำไปใช้ในการผลิตถ่านไฟฉาย การผลิตแบตเตอรี่บางชนิด ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้กระทั่งดินสอที่เราใช้กันมาตั้งแต่เด็กก็มีไส้ที่ทำจากแกรไฟต์ หรืออุปกรณ์กีฬาที่ต้องการความทนทานมาก อย่างแร็กเกตแบดมินตัน ไม้เทนนิส ก้านไม้กอล์ฟ เบ็ดตกปลา ก็ใช้แกรไฟต์ที่ผ่านกระบวนการผลิตโดยผสมผสานกับวัสดุอื่นๆออกมาจนได้ชิ้นงานที่เรียกว่า คาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งแข็งแรงกว่าเหล็กกล้า มีน้ำหนักเบากว่ามาก แถมยังมี คุณสมบัติด้านอื่นๆที่ดีกว่าอีกหลายอย่าง



        และที่เด็ดกว่านั้น แฟนานุแฟนทราบหรือไม่ครับว่าอัญมณีเลอค่ามหาแพงอย่างเพชร ก็คือคาร์บอนชนิดหนึ่ง แต่เป็นคาร์บอนที่มีลักษณะผลึกเป็นแปดเหลี่ยม มีความแข็งที่สุดคือระดับ 10 ตามการวัดค่าความแข็งแบบโมส์ (Moh’s Scale) ตรงข้ามกับแกรไฟต์ที่เป็นคาร์บอนแบบที่มีความนุ่ม และผลึกของแกรไฟต์ก็มีแค่สามเหลี่ยม
         คาร์บอน เมื่อรวมตัวกับออกซิเจน จะเกิดเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อรวมกับไฮโดรเจน จะเกิดเป็นสารประกอบต่างๆ ที่เรียกรวมๆ ว่าไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมในรูปแบบของเชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อรวมกับทั้งไฮโดรเจนและออกซิเจน สามารถจะเกิดเป็นสารประกอบได้หลายประเภท เช่น กรดไขมัน ซึ่งจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต และเอสเทอร์ ซึ่งให้รสชาติแก่ผลไม้หลายชนิด
            มีคาร์บอนอีกชนิดหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากถ่านทั่วๆไป เรียกว่า ถ่านกัมมันต์ ในภาษาอังกฤษคือ แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอน (Activated Carbon บางครั้งก็เรียกว่า Activated Charcoal หรือ Activated coal) ถ่านชนิดนี้เป็นถ่านที่ผ่านกระบวนการที่ทำให้เกิดรูพรุนขึ้นในตัวมันเองมากมาย ซึ่งรูพรุนนั้นเองทำให้เกิดพื้นที่ผิวเพิ่มมากขึ้น มีคุณสมบัติในการดูดซับสิ่งต่างๆที่อยู่ในของเหลวหรือก๊าซได้ปริมาณสูง



        การผลิตแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอน จะใช้วัตถุดิบจากอินทรียวัตถุต่างๆกันเช่น ไม้ เอามาเผาเป็นถ่าน และทำการ activate ภายใต้ความร้อนสูงและไอน้ำในสภาวะปราศจากออกซิเจน เพื่อเป็นการกำจัดสารประกอบต่างๆที่ยังหลงเหลืออยู่ให้มีเพียงคาร์บอนบริสุทธิ์อย่างเดียวและเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซับให้มากที่สุด แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนถูกนำไปใช้ในการกรองเอาสารประกอบอินทรีย์ต่างๆที่ไม่ต้องการออกจากของเหลวหรือก๊าซ เช่น ใช้ในการกรองน้ำดื่มให้สะอาดปราศจากสี กลิ่น กรดบางชนิด ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ใช้ในการฟอกสีของเหลวต่างๆ ใช้ในการทดลองวิจัยเพื่อแยกและเตรียมสารเคมี ทางการแพทย์นำไปใช้ในการกำจัดพิษ การฟอกเลือด และอื่นๆ ใช้กรองกลิ่นและก๊าซที่ไม่ต้องการ ในหน้ากากกรองสารพิษ และเครื่องฟอกอากาศ



        ปัจจุบันนี้ แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เครื่องกรองน้ำขนาดเล็กที่ใช้กันตามบ้านแบบสองท่อหรือสามท่อก็ตาม จะต้องมีท่อหนึ่งที่มีไส้กรองข้างในเป็นไส้กรองถ่าน เพื่อกรองสีและกลิ่น สารคลอรีน และโลหะหนักบางชนิด ทำให้น้ำที่ผ่านออกมาสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนดังกล่าว ไส้กรองถ่านที่ว่าก็บรรจุแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนไว้ข้างในนั่นเอง ในเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศบางรุ่นก็มีไส้กรองที่บรรจุแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนไว้ข้างใน เพื่อดักจับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้อากาศในห้องบริสุทธิ์สะอาดขึ้น



        หลายปีที่ผ่านมา มีการใช้แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนในการทำความสะอาดแผล และการค้นพบใหม่ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนสามารถดูดซับและกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งปฏิกูลที่หลั่งออกมาจากเชื้อราหรือแบคทีเรียได้ด้วย



        หรืออย่างเวลาเรารับประทานอาหารเป็นพิษแล้วเกิดอาการปวดท้อง สิ่งที่จะช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วก็คือ การกลืนยาเม็ดสีดำซึ่งก็คือแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนนั่นเองลงไป มันจะเข้าไปช่วยดูดซับเอาพิษที่ยังคงอยู่ในกระเพาะเข้าไปไว้ที่ตัวมัน เพื่อลดปริมาณของพิษที่จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ก่อนจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกาย ข้อมูลทางการแพทย์บอกว่า โดยเฉลี่ยมันสามารถลดพิษได้ถึง 60% จากสารพิษที่กินเข้าไป (ลดได้ราว 90% ในสามสิบนาทีแรกหลังจากกิน และลดได้ 37% หลังจากกินไป 1 ชั่วโมง)
        นอกจากในรูปแบบที่กล่าวมาแล้ว แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนยังถูกนำไปผลิตเป็นแผ่นทำความสะอาดรูขุมขน สบู่อาบน้ำ และแชมพูสระผมด้วย ในยุคที่มลพิษรายล้อมอยู่รอบตัวอย่างนี้ เราสัมผัสกับสารพิษต่างๆโดยที่รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง โดยเฉพาะคนในเมืองที่ต้องผจญกับอากาศที่เต็มไปด้วยไอเสียจากรถตามท้องถนน แชมพูซึ่งผสมแอ็ค-ทิเวตเท็ด คาร์บอนดังกล่าวจึงช่วยดูดซับสิ่งสกปรก ช่วยทำให้รูขุมขนบนหนังศีรษะสะอาด ปราศจากน้ำมัน สิ่งสกปรก สิ่งตกค้างอุดตัน ที่ก่อให้เกิดรังแคบนหนังศีรษะ ในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แชมพูชนิดนี้กำลังได้รับความนิยมมาก



        ไม่น่าเชื่อเลยว่า ถ่านที่บางคนรังเกียจที่จะจับต้องเพราะกลัวเปื้อนเปรอะเลอะมือ จะเป็นคาร์บอนเหมือนกับเพชร และถ่านดำๆก็ยังนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อขจัดพิษ เพื่อความสะอาดและความสวยความงามได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ทิ้งเครื่องแบบสู่วิถีเกษตร ปราชญ์...ไม้ไผ่



“เบื่อชีวิตราชการเพราะไม่ค่อยได้กลับมาอยู่กับลูกเมีย จึงตัดสินใจลาออกมาทำเกษตรอยู่กับบ้านที่ อ.หันคา จ.ชัยนาท แรกๆเริ่มต้นด้วยการปลูกมะนาวแบบคนอื่นๆ ใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แต่ทำไปทำมามีญาติเสียชีวิตจากยาฆ่าแมลง จึงมานั่งคิดใหม่ทำใหม่ ลด ละ เลิกใช้สารเคมี ทำพอเพียง ไม่ต้องไปพึงใคร ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เน้นทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ”

จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์ อดีตทหารเรือ ที่ผันชีวิตมาทำเกษตรจนได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” เข้ารับรางวัลในงาน “หยาดน้ำจากฟ้า วิถีปราชญ์ ตามรอยพระบาท นำเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งจะจัดขึ้นที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ระหว่าง 20-22 ก.ย.นี้ เล่าถึงที่มากว่าจะได้เป็นปราชญ์ชาวบ้านในวันนี้
“เพื่อทำให้ตัวเองพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไรเราถึงจะพึ่งตัวเองได้มากพึ่งคนอื่นให้น้อย มองไปมองมาแถวๆบ้านมีไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก จึงคิดค้นหาทางเพื่อจะนำไม้ไผ่มาแปรรูป อันดับแรกเริ่มทำก่อนเอามาเผาเป็นถ่านไม้ไผ่คาร์บอนอัดแท่ง ผสมแกลบและฟางข้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากภาคเกษตร มาใช้ประโยชน์เป็นถ่านหุงต้มอาหาร”

และด้วยถ่านไม้ไผ่มีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นจ่าเอกสมบัติ จึงคิดต่อยอดนำมาผลิตเป็นถ่านไม้ดับกลิ่น...แต่ในแบบที่ไม่ธรรมดาหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น สามารถนำไปวางใช้ที่ไหนก็ได้ในแบบไม่เกะกะรกรุงรังลูกตา สามารถใช้ประดับตกแต่งบ้านหรือวางบนโต๊ะทำงานได้ เพราะคุณสมบัติของถ่านไม้ไผ่ไม่ได้มีแค่ดูดกลิ่นได้ดี ยังดูดซับคลื่นแม่เหล็กจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ดูดซับสารพิษต่างๆ ได้ด้วย
หรือจะนำไปใช้ในแวดวงความสวยความงาม เป็นสบู่ขัดผิวขาว แชมพูสระผม การสร้างมูลค่าเพิ่มราคาได้ขึ้นไปอีก

ไม่เพียงเท่านั้น อดีตทหารเรือที่ผันตัวเองมาเป็นปราชญ์เชี่ยวชาญไม้ไผ่ ยังมีผลงานที่โดดเด่นในการนำถ่านไม้ไผ่มาทำปุ๋ยอีกด้วย โดยการนำถ่านไม้ไผ่มาบดเป็นผงผสมกับดินเหนียว หมักร่วมกับแกลบเพื่อเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ จากนั้นนำไปใส่เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ บดให้ละเอียดก่อนจะเข้าเครื่องปั้นเม็ดให้กลายเป็นอาหารดินอินทรีย์ชีวภาพ ที่มีส่วนผสมของโดโลไมค์ ฟอสเฟสลงไปด้วย เรียกว่า ทำปุ๋ยแบบครบวงจรกันเลยทีเดียว
และหลังจากค้นพบแนวทางของชีวิตว่าเดินมาถูกต้อง จึงอุทิศตนใช้บ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ของกลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง ขยายความรู้ให้ชาวบ้านโดยยึดหลักพอเพียง ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถดำรงชีวิตสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างภาคภูมิใจ.

ที่มา : ไชยรัตน์ ส้มฉุน ไทยรัฐ

ประวัติและความเป็นมา

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทุนตำบลหนองแซง : ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงาน
รหัส 1-18-06-06/1-0001
        ตำบลหนองแซง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งมีพื้นที่แบ่งออกเป็น 20 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ถึงร้อยละ 80 และการทำการเกษตรของประชาชน ใน 1 ปี เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมี เป็นเงินร่วม 30 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาในการลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง
        ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ชุมชน/ เทศบาล/ หน่วยงานราชการ/ ภาคเอกชน โดยได้มีการบูรณาการความร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน โดยจุดก่อเกิดเริ่มจากโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท “เศรษฐกิจพอเพียง” พึ่งตนเอง บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ในพื้นที่ของบ้านแหลมทอง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา
        ตั้งแต่เดิม ชาวตำบลหนองแซง ส่วนใหญ่ทำการเกษตรและใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จึงทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมกับชาวบ้านแหลมทอง ดำเนินโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท “เศรษฐกิจพอเพียง” พึ่งตนเอง เมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้ว ซึ่งมีหลักการคือ การทำการเกษตรโดยเน้นการใช้ อินทรีย์ชีวภาพ แทน ปุ๋ยเคมี โดยมีการตั้ง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน โดยได้บริจาคพื้นที่ 1 งาน และ อบต. หนองแซง จัดซื้อสมทบ ให้อีกรวมเป็นพื้นที่ 2 ไร่ เพื่อดำเนินกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ และได้มีการสร้างโรงงานอาหารดิน อินทรีย์ชีวภาพ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และมีแปลงเกษตรผสมผสาน เป็นแปลงสาธิต เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และฟื้นฟูทรัพยากรดินไปในตัว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ได้ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชน ได้นำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางแห่งการพึ่งพาตนเอง และการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับครอบครัว และชุมชนต่อมาได้มีการบูรณาการความร่วมมือกัน จากภาคีการพัฒนาต่างๆ หลายภาคส่วนในการให้การส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงาน ทั้งทางด้านงบประมาณ และทางด้านวิชาการ จนมีการพัฒนา เป็น ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง
   ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีกิจกรรมต่างๆ หลากหลาย นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งปัจจุบัน มีกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ เป็นศูนย์เรียนรู้ ได้แก่
1) การผลิตปุ๋ยน้ำ
2) การผลิตปุ๋ยหมัก
3) การผลิตปุ๋ยผง
4) การผลิตปุ๋ยเม็ด
5) การผลิตน้ำมันใบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว และเมล็ดสบู่ดำ
6) การผลิตแก๊สชีวภาพจากขยะในครัวเรือน
7) การผลิตถ่านอัดแท่งไร้ควันจากเศษถ่านเหลือใช้
8) การสีข้าวจากโรงสีเล็ก
9) การเผาถ่านแบบได้น้ำส้มควันไม้
10) การผลิตน้ำดื่มชุมชน

        จากกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ของศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง ทำให้มีผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก มาศึกษาดูงาน และเข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์เรียนรู้ฯโดยมีหลักสูตรการฝึกอบรม จำนวน 4 วัน 3 คืน และมีที่พักสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าวของศูนย์เรียนรู้ สามารถสร้างรายได้โดยตรงให้กับคนในชุมชน ที่เป็นบุคลากรในการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ ประมาณ 56 คน และเกิดรายได้ทางอ้อมอีกจำนวนมากมาย รวมทั้ง การที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้อาหารดิน อินทรีย์ชีวภาพ แทน การใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ในปีที่ผ่านมา สามารถลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรกรรม ได้ประมาณสามล้านบาท

ความชำนาญพิเศษ/จุดเด่นของศูนย์ฯ
        เกษตรผสมผสาน การทำเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมการทำน้ำหมักชีวภาพ การทำเครื่องผลิตปุ๋ย การผลิตอาหารดิน การทำน้ำดื่ม ผลิตถ่านอัดแท่งไบโอดีเซล ผลิตแก๊สจากขยะ/เศษอาหาร (แก๊สชีวภาพ)

ความพร้อมของศูนย์ฯ
       มีอาคารฝึกอบรมรองรับเกษตรกรได้ประมาณ 50 คน และมีสถานที่พัก มีจำนวน 3 ห้อง แบ่งเป็น 1 ห้องใหญ่ 2 ห้องเล็ก สามารถนอนได้ 40–50 คน แบ่งแยกเป็นห้องนอนหญิง และชาย และมีห้องน้ำ-ห้องส้วมรอบๆ บริเวณศูนย์ฯ แยกเป็นห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง รวมทั้งหมด 12 ห้อง และมีโรงอาหาร โต๊ะ เก้าอี้ แยกออกเป็นสัดส่วนและเพียงพอสำหรับเกษตรกร และมีฐานการเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ลงมือปฏิบัติจริง
          

ประวัติประธานกลุ่ม

ชื่อ-สกุล จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์
ที่อยู่ 166 หมู่1 บ้านแหลมทอง ตำบลหนองแซง
อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท 17160
โทรศัพท์ 08-7209-8138, 08-6200-4136
โทรสาร 0-5640-1132
วัน/เดือน/ปี เกิด 5 มีนาคม 2508
ประสบการณ์
        จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธ์ อดีตเป็นนักดนตรีประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังมีประสบการณ์การทำงานการเกษตรและดนตรี คือเป็นวิทยากรฝึกอบรมการทำปุ๋ย อินทรีย์ชีวภาพ ชนิดน้ำชนิดผง ชนิดอัดแท่ง และชนิดเม็ด ได้ออกแบบชุดเทคโนโลยีการปั้นเม็ดปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เป็นวิทยากรพิเศษสอนดนตรีสากลและเป็นวิทยากรกระบวนการตามหน่วยงานราชการและชุมชนภาคกลาง

รางวัลเชิดชูเกียรติที่เคยได้รับ
- ปี 2553 รางวัลเกียรติบัตร การประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 ประเภทประชาชนทั่วไป
- ปี 2549 ได้รับเกียรติบัตร หลักสูตรการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
- ปี 2548 รางวัลชนะเลิศ ด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนดีเด่น/เศรษฐกิจพอเพียง
- ปี 2547 ได้รับใบประกาศนียบัตรแห่งภูมิปัญญาเกษตรไทย “เป็นผู้อนุรักษ์และส่งเสริม ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเครื่องมือเครื่องใช้ดีเด่น” จากกรมส่งเสริมการเกษตร

แผนที่