Sunday 2 August 2015

ประวัติและความเป็นมา

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทุนตำบลหนองแซง : ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงาน
รหัส 1-18-06-06/1-0001
        ตำบลหนองแซง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งมีพื้นที่แบ่งออกเป็น 20 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ถึงร้อยละ 80 และการทำการเกษตรของประชาชน ใน 1 ปี เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมี เป็นเงินร่วม 30 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาในการลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง
        ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ชุมชน/ เทศบาล/ หน่วยงานราชการ/ ภาคเอกชน โดยได้มีการบูรณาการความร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน โดยจุดก่อเกิดเริ่มจากโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท “เศรษฐกิจพอเพียง” พึ่งตนเอง บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ในพื้นที่ของบ้านแหลมทอง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา
        ตั้งแต่เดิม ชาวตำบลหนองแซง ส่วนใหญ่ทำการเกษตรและใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จึงทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมกับชาวบ้านแหลมทอง ดำเนินโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท “เศรษฐกิจพอเพียง” พึ่งตนเอง เมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้ว ซึ่งมีหลักการคือ การทำการเกษตรโดยเน้นการใช้ อินทรีย์ชีวภาพ แทน ปุ๋ยเคมี โดยมีการตั้ง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน โดยได้บริจาคพื้นที่ 1 งาน และ อบต. หนองแซง จัดซื้อสมทบ ให้อีกรวมเป็นพื้นที่ 2 ไร่ เพื่อดำเนินกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ และได้มีการสร้างโรงงานอาหารดิน อินทรีย์ชีวภาพ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และมีแปลงเกษตรผสมผสาน เป็นแปลงสาธิต เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และฟื้นฟูทรัพยากรดินไปในตัว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ได้ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชน ได้นำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางแห่งการพึ่งพาตนเอง และการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับครอบครัว และชุมชนต่อมาได้มีการบูรณาการความร่วมมือกัน จากภาคีการพัฒนาต่างๆ หลายภาคส่วนในการให้การส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงาน ทั้งทางด้านงบประมาณ และทางด้านวิชาการ จนมีการพัฒนา เป็น ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง
   ศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีกิจกรรมต่างๆ หลากหลาย นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งปัจจุบัน มีกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ เป็นศูนย์เรียนรู้ ได้แก่
1) การผลิตปุ๋ยน้ำ
2) การผลิตปุ๋ยหมัก
3) การผลิตปุ๋ยผง
4) การผลิตปุ๋ยเม็ด
5) การผลิตน้ำมันใบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว และเมล็ดสบู่ดำ
6) การผลิตแก๊สชีวภาพจากขยะในครัวเรือน
7) การผลิตถ่านอัดแท่งไร้ควันจากเศษถ่านเหลือใช้
8) การสีข้าวจากโรงสีเล็ก
9) การเผาถ่านแบบได้น้ำส้มควันไม้
10) การผลิตน้ำดื่มชุมชน

        จากกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ของศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง ทำให้มีผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก มาศึกษาดูงาน และเข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์เรียนรู้ฯโดยมีหลักสูตรการฝึกอบรม จำนวน 4 วัน 3 คืน และมีที่พักสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าวของศูนย์เรียนรู้ สามารถสร้างรายได้โดยตรงให้กับคนในชุมชน ที่เป็นบุคลากรในการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ ประมาณ 56 คน และเกิดรายได้ทางอ้อมอีกจำนวนมากมาย รวมทั้ง การที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้อาหารดิน อินทรีย์ชีวภาพ แทน การใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ในปีที่ผ่านมา สามารถลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรกรรม ได้ประมาณสามล้านบาท

ความชำนาญพิเศษ/จุดเด่นของศูนย์ฯ
        เกษตรผสมผสาน การทำเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมการทำน้ำหมักชีวภาพ การทำเครื่องผลิตปุ๋ย การผลิตอาหารดิน การทำน้ำดื่ม ผลิตถ่านอัดแท่งไบโอดีเซล ผลิตแก๊สจากขยะ/เศษอาหาร (แก๊สชีวภาพ)

ความพร้อมของศูนย์ฯ
       มีอาคารฝึกอบรมรองรับเกษตรกรได้ประมาณ 50 คน และมีสถานที่พัก มีจำนวน 3 ห้อง แบ่งเป็น 1 ห้องใหญ่ 2 ห้องเล็ก สามารถนอนได้ 40–50 คน แบ่งแยกเป็นห้องนอนหญิง และชาย และมีห้องน้ำ-ห้องส้วมรอบๆ บริเวณศูนย์ฯ แยกเป็นห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง รวมทั้งหมด 12 ห้อง และมีโรงอาหาร โต๊ะ เก้าอี้ แยกออกเป็นสัดส่วนและเพียงพอสำหรับเกษตรกร และมีฐานการเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ลงมือปฏิบัติจริง
          

ประวัติประธานกลุ่ม

ชื่อ-สกุล จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์
ที่อยู่ 166 หมู่1 บ้านแหลมทอง ตำบลหนองแซง
อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท 17160
โทรศัพท์ 08-7209-8138, 08-6200-4136
โทรสาร 0-5640-1132
วัน/เดือน/ปี เกิด 5 มีนาคม 2508
ประสบการณ์
        จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธ์ อดีตเป็นนักดนตรีประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังมีประสบการณ์การทำงานการเกษตรและดนตรี คือเป็นวิทยากรฝึกอบรมการทำปุ๋ย อินทรีย์ชีวภาพ ชนิดน้ำชนิดผง ชนิดอัดแท่ง และชนิดเม็ด ได้ออกแบบชุดเทคโนโลยีการปั้นเม็ดปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เป็นวิทยากรพิเศษสอนดนตรีสากลและเป็นวิทยากรกระบวนการตามหน่วยงานราชการและชุมชนภาคกลาง

รางวัลเชิดชูเกียรติที่เคยได้รับ
- ปี 2553 รางวัลเกียรติบัตร การประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 ประเภทประชาชนทั่วไป
- ปี 2549 ได้รับเกียรติบัตร หลักสูตรการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
- ปี 2548 รางวัลชนะเลิศ ด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนดีเด่น/เศรษฐกิจพอเพียง
- ปี 2547 ได้รับใบประกาศนียบัตรแห่งภูมิปัญญาเกษตรไทย “เป็นผู้อนุรักษ์และส่งเสริม ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเครื่องมือเครื่องใช้ดีเด่น” จากกรมส่งเสริมการเกษตร

แผนที่

No comments:

Post a Comment