Sunday 2 August 2015

ทิ้งเครื่องแบบสู่วิถีเกษตร ปราชญ์...ไม้ไผ่



“เบื่อชีวิตราชการเพราะไม่ค่อยได้กลับมาอยู่กับลูกเมีย จึงตัดสินใจลาออกมาทำเกษตรอยู่กับบ้านที่ อ.หันคา จ.ชัยนาท แรกๆเริ่มต้นด้วยการปลูกมะนาวแบบคนอื่นๆ ใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แต่ทำไปทำมามีญาติเสียชีวิตจากยาฆ่าแมลง จึงมานั่งคิดใหม่ทำใหม่ ลด ละ เลิกใช้สารเคมี ทำพอเพียง ไม่ต้องไปพึงใคร ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เน้นทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ”

จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์ อดีตทหารเรือ ที่ผันชีวิตมาทำเกษตรจนได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” เข้ารับรางวัลในงาน “หยาดน้ำจากฟ้า วิถีปราชญ์ ตามรอยพระบาท นำเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งจะจัดขึ้นที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ระหว่าง 20-22 ก.ย.นี้ เล่าถึงที่มากว่าจะได้เป็นปราชญ์ชาวบ้านในวันนี้
“เพื่อทำให้ตัวเองพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไรเราถึงจะพึ่งตัวเองได้มากพึ่งคนอื่นให้น้อย มองไปมองมาแถวๆบ้านมีไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก จึงคิดค้นหาทางเพื่อจะนำไม้ไผ่มาแปรรูป อันดับแรกเริ่มทำก่อนเอามาเผาเป็นถ่านไม้ไผ่คาร์บอนอัดแท่ง ผสมแกลบและฟางข้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากภาคเกษตร มาใช้ประโยชน์เป็นถ่านหุงต้มอาหาร”

และด้วยถ่านไม้ไผ่มีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นจ่าเอกสมบัติ จึงคิดต่อยอดนำมาผลิตเป็นถ่านไม้ดับกลิ่น...แต่ในแบบที่ไม่ธรรมดาหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น สามารถนำไปวางใช้ที่ไหนก็ได้ในแบบไม่เกะกะรกรุงรังลูกตา สามารถใช้ประดับตกแต่งบ้านหรือวางบนโต๊ะทำงานได้ เพราะคุณสมบัติของถ่านไม้ไผ่ไม่ได้มีแค่ดูดกลิ่นได้ดี ยังดูดซับคลื่นแม่เหล็กจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ดูดซับสารพิษต่างๆ ได้ด้วย
หรือจะนำไปใช้ในแวดวงความสวยความงาม เป็นสบู่ขัดผิวขาว แชมพูสระผม การสร้างมูลค่าเพิ่มราคาได้ขึ้นไปอีก

ไม่เพียงเท่านั้น อดีตทหารเรือที่ผันตัวเองมาเป็นปราชญ์เชี่ยวชาญไม้ไผ่ ยังมีผลงานที่โดดเด่นในการนำถ่านไม้ไผ่มาทำปุ๋ยอีกด้วย โดยการนำถ่านไม้ไผ่มาบดเป็นผงผสมกับดินเหนียว หมักร่วมกับแกลบเพื่อเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ จากนั้นนำไปใส่เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ บดให้ละเอียดก่อนจะเข้าเครื่องปั้นเม็ดให้กลายเป็นอาหารดินอินทรีย์ชีวภาพ ที่มีส่วนผสมของโดโลไมค์ ฟอสเฟสลงไปด้วย เรียกว่า ทำปุ๋ยแบบครบวงจรกันเลยทีเดียว
และหลังจากค้นพบแนวทางของชีวิตว่าเดินมาถูกต้อง จึงอุทิศตนใช้บ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ของกลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง ขยายความรู้ให้ชาวบ้านโดยยึดหลักพอเพียง ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถดำรงชีวิตสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างภาคภูมิใจ.

ที่มา : ไชยรัตน์ ส้มฉุน ไทยรัฐ

No comments:

Post a Comment